เกี่ยวกับเรา
ความเป็นมา
สำนักการศึกษาต่อเนื่องได้รับการจัดตั้งตามพระราชกฤษฎีกาการจัดตั้งสำนักการศึกษาต่อเนื่อง มสธ. พ.ศ. 2531 เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2531 เพื่อทำหน้าที่ด้านการให้บริการทางวิชาการแก่สังคม และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม เช่น การส่งเสริมการศึกษาตามอัธยาศัย โครงการสัมฤทธิบัตร การเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชนผ่านสื่อต่างๆ การจัดอภิปราย การจัดสัมมนา การจัดนิทรรศการ การสาธิต การแสดง การจัดกิจกรรมในชุมชนท้องถิ่น การจัดฝึกอบรมหลักสูตรต่างๆ ทั้งวิชาการและวิชาชีพให้แก่ ประชาชน หน่วยงานภาครัฐ วิสาหกิจ และเอกชน การจัดการศึกษาตามอัธยาศัยที่เป็นสหวิทยาการในอุทยานการศึกษาให้ผู้สนใจสามารถศึกษาได้ด้วยตนเอง เพื่อเพิ่มความรู้พัฒนาคุณภาพชีวิต และการงานรวมถึงการจัดกิจกรรมนันทนาการ ศิลปวัฒนธรรม งานประเพณีในเทศกาลต่างๆ เพื่อเป็นการส่งเสริมทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม
พันธกิจ (Mission)
- พัฒนาการฝึกอบรมที่มีมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับ
- สนับสนุนการบริการวิชาการเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต
- ส่งเสริมและสนับสนุนการบูรณาการเครือข่ายเพื่อการฝึกอบรมและการบริการวิชาการ
- บริหารจัดการรายวิชาระดับต่ำกว่าปริญญาในระบบโมดูลการสอนทางไกลที่มีคุณภาพและการสื่อสารการตลาดดิจิทัล
- สืบสานศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น
- พัฒนาศักยภาพบุคลากรให้มีสมรรถนะตามมาตรฐานวิชาชีพ
- เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารและการจัดการตามหลักธรรมาภิบาลแบบมีส่วนร่วม
วิสัยทัศน์ (Vision)
“องค์กรชั้นนำด้านการฝึกอบรม การบริการวิชาการ และการบริหารจัดการชุดการเรียนรู้เพื่อการศึกษาตลอดชีวิต ด้วยการบูรณาการเครือข่ายและเทคโนโลยีดิจิทัล สืบสานการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรม”
หน่วยงานภายใน
สำนักงานเลขานุการ
รับผิดชอบในฐานะหน่วยงานสนับสนุนด้านการบริหารและส่งเสริมฝ่ายต่าง ๆ ให้สามารถดำเนินงานให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามเป้าหมายและนโยบายที่ผู้บริหารกำหนดไว้ นอกจากนั้นยังมีหน้าที่ในการกำกับ ตรวจสอบ วิเคราะห์ กลั่นกรองงานในด้านต่าง ๆ ให้เป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎ ระเบียบ ข้อบังคับของทางราชการ
ฝ่ายบริการเผยแพร่ทางไกล
มีหน้าที่จัดทำโครงการสัมฤทธิบัตร โครงการสัมฤทธิบัตรบัณฑิตศึกษา โครงการเรียนปริญญาตรีล่วงหน้า จัดงานพิธีมอบประกาศนียบัตรและสัมฤทธิบัตร จัดทำผลวิเคราะห์ข้อมูลผู้เรียนโครงการสัมฤทธิบัตร จัดส่งใบสัมฤทธิบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา วางกลยุทธ์ทางการตลาด วางแผนการรณรงค์ การประชาสัมพันธ์ แนะแนวการศึกษา ให้คำแนะนำปรึกษา ช่วยเหลือผู้สนใจเรียน และผู้เรียน ประสานงานและติดตามกลุ่มผู้เรียน แนะแนวการศึกษาต่อหรือการเทียบโอนเรียนต่อ มสธ. สร้างและพัฒนาระบบเครือข่ายผู้เรียน ผลิตสื่อเพื่อเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ สร้างระบบสารสนเทศผู้เรียน/กลุ่มเป้าหมาย เป็นศูนย์กลางการให้บริการวิชาการแก่สังคม ประสานความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยกับหน่วยงานต่าง ๆ ในสังคม กำหนดกรอบและจัดทำแผนการดำเนินงานด้านการบริการวิชาการแก่สังคม และนำเสนอผลการดำเนินโครงการแก่ผู้บริหารเกี่ยวกับประโยชน์ที่ได้รับและผลกระทบที่ดีต่อสังคม
ฝ่ายบริหารการฝึกอบรม
มีหน้าที่รับผิดชอบการจัดอบรมและให้คำปรึกษาบริการทางวิชาการแก่สังคมในรูปแบบการจัดฝึกอบรม ได้แก่ หลักสูตรผู้สนใจทั่วไป (Public training) หลักสูตรโครงการความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอก (In-house training) หลักสูตรฝึกอบรมทางไกล (e-training)
ฝ่ายพัฒนาสื่อและเทคโนโลยีการฝึกอบรม
มีหน้าที่บริหารจัดการการจัดการเรียนการสอนระดับต่ำกว่าปริญญาในระบบโมดูลการสอนทางไกล
(STOU Modular) ได้แก่ การวางแผน การกำกับติดตาม การประเมินผล ในการผลิต การพัฒนาและการจัดการเรียนการสอนรายวิชา STOU Modular รวมถึงการวิจัยเพื่อพัฒนาระบบการจัดการเรียนการสอนระดับต่ำกว่าปริญญาในระบบโมดูลการสอนทางไกล นอกจากนี้ยังมีหน้าที่ในการจัดทำระบบฐานข้อมูลผู้เรียนและฐานข้อมูลรายวิชาเพื่อดำเนินการเกี่ยวกับระบบคลังหน่วยกิตที่อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักการศึกษาต่อเนื่อง และการวางแผนการประชาสัมพันธ์ การทำการตลาดดิจิทัลและการบริหารลูกค้าสัมพันธ์ของสำนักการศึกษาต่อเนื่อง
ฝ่ายอุทยานการศึกษา
รับผิดชอบการบริหารจัดการโครงการ กิจกรรม การฝึกอบรม นันทนาการและอาชีพ โดยมุ่งเน้นการอนุรักษ์ ส่งเสริม ฟื้นฟู ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี วิถีชีวิต ภูมิปัญญาท้องถิ่น อาหาร แหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การปลูกจิตสำนึกด้านจริยธรรม คุณธรรม ความเป็นเอกลักษณ์ไทย พัฒนาและสร้างมาตรฐานระบบงานด้านศิลปวัฒนธรรม ผลิตและเผยแพร่สื่อด้านศิลปวัฒนธรรมในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อดิจิทัล สื่อกิจกรรม สร้างเครือข่ายด้านศิลปวัฒนธรรมกับหน่วยงานต่าง ๆ